อีสาน…แหล่งผลิตกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่น

เผยเเพร่เมื่อ 19680 เข้าชม

อีสานแหล่งผลิตกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่่นแห่งใหม่ พื้นที่ปลูกกว่า 100 ไร่ ในพื้นที่ปลูก 7 จังหวัด หากพูดถึงภาคอีสานเชื่อว่าทุกคนนึกถึงภาพทุ่งรวงทองของนาข้าวที่ยึดครองพื้นที่ในภาคอีสานมาอย่างยาวนานหรือวันนี้หลายคนอาจนึกถึงสวนยางพาราที่กำลังเป็นพืชเศรษฐกิจมาแรงของพื้นที่ภาคอีสาน ใครจะไปคิดว่าวันนี้ภาคอีสานจะกลายเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่นแห่งใหม่ที่กำลังขยายการผลิตอย่างรุดหน้าด้วยเครือข่ายการผลิตที่กระจายออกไปมากถึง 7 จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างฐานการผลิตที่จะทำให้อีสานกลายเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองแห่งใหม่แหล่งใหญ่ของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

จุดเริ่มต้นของการปลูกกล้วยหอมทองสู่การขยายเครือข่ายกว่า 7 จังหวัด
คุณจักรินทร์ โพธิ์เพิ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง จ.อุดรธานี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกกล้วยหอมทองในภาคอีสานที่เสมือนเป็นพืชแปลกถิ่นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วว่า คุณพ่อของเขาเริ่มต้นนำกล้วยหอมทองมาปลูกที่อุดรธานีเมื่อปี 2537 เพื่อเป็นพืชสร้างรายได้หลังวัยเกษียณที่บ้านเกิด ตอนนั้นคุณจักรินทร์ยังทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ จากพื้นที่ปลูกกล้วยครั้งแรก 3 ไร่ ก็ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และขยายสู่แปลงอื่นๆของเพื่อนบ้านหลังจากที่เห็นกล้วยหอมเป็นพืชสร้างรายได้ดีกว่าการทำนา และจากกล้วยที่ปลูกเพื่อส่งขายตลาดในหมู่บ้านก็ขยายเป็นตลาดในอำเภอ ในจังหวัดและขยายสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน โดยเฉพาะตลาดริมทางที่ บ้านเดื่อ จ.หนองคายซึ่งสร้างชื่อเสียงของกล้วยหอมทองให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ยอดการขายกล้วยหอมทองผ่านตลาดริมทางนี้สูงจนทำให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเป็นจุดผ่านของนักท่องเที่ยวปริมาณมาก จนกระทั่งปี 2552 ทางสำนักงานเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น และในปีนี้เองที่กล้วยหอมทองจากแหล่งผลิตที่นี่ได้มีโอกาสโกอินเตอร์ไปยังประเทศโดยผ่าน บริษัท แพน แปซิฟิค จำกัด ผู้รับซื้อกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่นรายใหญ่ของบ้านเรา วันนี้ตลาดขยายเพิ่มไปอีก 2 ประเทศ คือ จีนและเกาหลี

วันนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อร่วมกันผลิตกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่นไปพร้อมกับขยายตลาดในประเทศด้วย ปัจจุบันมีสมาชิกร่วม 100 คน จากครั้งแรก 5 จังหวัด นั่นคือ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร ตอนนี้ขยายเพิ่มอีก 2 จังหวัด นั่นคือ ศรีสะเกษและบุรีรัมย์ โดยจะมีการวางแผนการปลูกให้กับสมาชิก โดยในแต่ละจุดของการปลูกจะต้องมีพื้นที่ปลูกกล้วยรวมกันอยู่ที่ 5,000-10,000 หน่อ หรือประมาณ 15-25 ไร่ (350-400 หน่อต่อไร่) เป็นอย่างน้อย เพื่อให้มีปริมาณกล้วยเพียงพอสำหรับการเก็บเกี่ยวและขนส่งใน 1 ตู้คอนเทรนเนอร์ ซึ่งก็จะมีปริมาณ 3-5 ตันในการเก็บเกี่ยวต่อครั้ง

ความได้เปรียบ-เสียเปรียบของการผลิตกล้วยในภาคอีสาน
คุณจักรินทร์กล่าวว่า พื้นที่อีสานได้เปรียบตรงที่เป็นพื้นที่ใหม่ในการปลูกกล้วย การสะสมของโรค-แมลงยังน้อย ระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมยังสมบูรณ์ ขณะที่ในพื้นที่ที่กล้วยมานานการเจริญเติบโตจะสู้พื้นที่ใหม่ไม่ได้ กล้วยปลูกซ้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค การให้ผลผลิตก็ไม่ค่อยดี อีสานได้เปรียบในเรื่องของการจัดการที่ง่าย ต้นทุนค่าปุ๋ยและสารเคมีน้อยกว่าเขตอื่น แต่พื้นที่เขตอีสานก็เสียเปรียบตรงที่หาพื้นที่ยากเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง การลงทุนในเรื่องของระบบน้ำก็อาจจะสูงกว่าพื้นที่อื่น การวางแผนการผลิตต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ อย่างพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำจะให้ปลูกช่วง เม.ย.-มิ.ย. พื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำให้ปลูกช่วง ต.ค.-ม.ค. ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ ทำให้ผลผลิตส่วนใหญ่จะออกมากในช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. ส่วนช่วงอื่นก็จะมีผลผลิตประปรายตลอดทั้งปี ซึ่งก่อนปลูกจะมีเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่ให้ก่อนปลูกทุกครั้ง

ตลาดและการรับซื้อ
ในส่วนของตลาดคุณจักรินทร์บอกว่า ที่นี่เน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีปริมาณผลผลิตประมาณ 10 ตัน/สัปดาห์ การแพ็คกิ้งและการขนส่งตอนนี้จะใช้วิธีนำคอนเทรนเนอร์เข้าไปในพื้นที่แปลงกล้วยที่เก็บเกี่ยว เพื่อสะดวกในการขนส่ง การเก็บเกี่ยวก็จะตัดกล้วยจากแปลงมาแขวนที่จุดแพ็คซึ่งทำโรงแพ็คแบบง่ายๆ จากนั้นตัดเป็นหวี ตรวจเช็คคุณภาพ น้ำหนักกล้วยต่อผลต้องไม่ต่ำกว่า 110 กรัม ถ้า 1 หวี มี 10 ลูก น้ำหนักต่อหวีก็ต้อง 1 กก.1 ขีด เป็นต้น จากนั้นก็จะนำมาล้างทำความสะอาด เป่าให้แห้ง ตรวจเช็คแมลงและสิ่งสกปรกอีกรอบก่อนจะบรรจุลงกล่องโดยรองบับเบิ้ลในกล่องก่อน และมีการติดบาร์โค้ท 1 บาร์โค้ทต่อกล้วย 3 ลูกเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อกล้วยมีปัญหา ในส่วนของราคารับซื้อทางกลุ่มจะประกันราคารับซื้อให้กับสมาชิกที่ 15 บาท/กก. ส่วนกล้วยที่ตกเกรดหรือกล้วยหวีเล็กที่อยู่บริเวณหัวและท้ายหวีก็จะขายตลาดในประเทศและนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

การลงทุนและผลตอบแทน
ในส่วนของต้นทุนการผลิตประเมินไว้ที่ 22,000-25,000 บาทต่อไร่ โดย 1 ไร่ ปลูกกล้วยได้ 350-400 ต้น เท่ากับว่า 1 ไร่ จะได้กล้วย 350-400 เครือ น้ำหนักกล้วยต่อเครือ 10-15 กก. ราคารับซื้อ 15 บาท/กก. หรือถ้าคิดเป็นเครือก็ประมาณเครือละ 180-200 บาท รายได้ต่อไร่ก็จะอยู่ที่ 50,000-60,000 บาท นับเป็นรายได้ที่น่าจูงใจอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เกษตรกรให้ความสนใจในการขยายพื้นที่ปลูกกันมาก แต่ข้อจำกัดของพื้นที่ภาคอีสานก็คือเรื่องของแหล่งน้ำอย่างที่บอกจึงทำให้การขยายพื้นที่จึงจำกัดอยู่

การดูแลสวนกล้วย
การปลูกกล้วยที่นี่จะใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร 1 ไร่ ปลูกได้ 350-400 หน่อ หน่อที่นำมาปลูกต้องเป็นหน่อจากต้นที่มีอายุอายุ 1 ปีขึ้นไปจึงจะเป็นหน่อที่สมบูรณ์ ราคาหน่อกล้วยที่ขาย 8-10 บาท/หน่อ การให้น้ำที่นี่มีทั้งปล่อยไปตามร่องและใช้น้ำหยด โดยลงทุนค่าน้ำหยดไร่ละ 3,000 บาท สามารถควบคุมการให้น้ำได้ ควบคุมความชื้นได้ การให้ปุ๋ยจะให้ครั้งแรกช่วงรองพื้นก่อนปลูกครั้งหนึ่ง เมื่อกล้วยอายุ 1 เดือนเริ่มให้ 15-15-15 อัตรา 100-150 กรัม/ต้น อายุ 3-4 เดือน ให้สูตรเดิม อัตรา 200-300 กรัม/ต้น อายุ 5 เดือน ให้ 20-15-20 อัตรา 200-300 กรัม/ต้น

เมื่อกล้วยอายุ 4 เดือนจะแต่งหน่อที่แตกออกมารอบต้นออก หลังจากนั้นจะคอยแต่งหน่อทุก 10-15 วันครั้ง ส่วนใบกล้วยคุณจักรินทร์บอกว่าถ้าจะให้ดีควรเก็บใบไว้ให้มากที่สุด ตัดแต่งเฉพาะใบที่เสื่อมสภาพ หมดอายุออก โดยจะไว้ใบต่อต้นประมาณ 10 ใบ ซึ่งถือว่าดีที่สุด

กล้วยอายุ 6 เดือนจะเริ่มออกปลี หลังจากกล้วยแทงสุดปลีแล้วจะตัดปลีออก และหลังตัดปลีไม่เกิน 15 วัน จะหุ้มเครือด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า (เอธีลีนโพลีน)แบบเปิดด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ และหุ้มทุกเครือ เพื่อให้ผิวกล้วยสวย และป้องกันแมลงทำลาย ส่วนการตัดใบธง ตัดเมื่อใบธงเริ่มหักก่อนที่จะเสียดสีกับผิวกล้วย

หลังตัดปลีประมาณ 60-70 วันก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ถ้านับอายุตั้งแต่เริ่มปลูกก็ประมาณ 9-10 เดือนหรือประมาณ 1 ปี การปลูกกล้วยเพื่อส่งออกจะไม่มีการใช้สารเคมีหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด ประกอบกับที่นี่เป็นพื้นที่ใหม่จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค-แมลง ก็ไม่ค่อยมีการใช้สารเคมีกันอยู่แล้ว

วันนี้กล้วยหอมทองในอีสานกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และได้รับความสนใจอย่างมากจากเกษตรกร เนื่องจากผลตอบแทนสูงกว่าพืชเดิมที่ชาวบ้านปลูกกันมานานจนกลายเป็นวิถีชีวิต

 

ที่มา : http://www.vigotech.co.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539819933&Ntype=8