ประกาศรับสมัครนักศึกษาเพื่อพิจารณารับ “ทุนราชภัฏเพื่อทายาทเกษตรกร ประจำปีการศึกษา 2567” จำนวน 6 ทุน

เผยเเพร่เมื่อ 230 เข้าชม

           คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีความประสงค์จะให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตทุกสาขาที่เปิดสอนในคณะเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับเยาวชน สร้างศรัทธา ทัศนคติและความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาศักยภาพของตนจากภูมิปัญญาและสภาพแวดล้อมทางการเกษตรที่มีอยู่ให้เกิดความชำนาญเพิ่มมากขึ้น จนเข้มแข็งสามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านเกษตร เข้าสู่กระบวนการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรแบบพึ่งตนเองได้ และประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน สร้างบุคลากรทางการเกษตรรุ่นใหม่และเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร และให้นักศึกษามีจิตใจของการเป็นผู้ประกอบการ สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่กลับสู่ท้องถิ่นอย่างมืออาชีพ ในโครงการทุนราชภัฏเพื่อทายาทเกษตรกร จำนวน 6 ทุน โดยมีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  • คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับทุน
    • เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีความประสงค์เข้าศึกษาในคณะเทคโนโลยีการเกษตร
      หรือนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตรที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1, 2 หรือ 3 ในปีการศึกษา 2567
    • ผู้สมัครที่เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4, 5 และ 6 (6 ภาคการศึกษา) ไม่ต่ำกว่า 2.75
    • ผู้สมัครที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และปีที่ 3 ต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสม ไม่ต่ำกว่า 3.00
    • มีภูมิลำเนาในจังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดกาฬสินธุ์
      หรือจังหวัดใกล้เคียง
    • มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลัก หรือประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการ และหรือมีที่ดินเพื่อการเกษตรเป็นของตนเอง
    • มีความสนใจใฝ่เรียนรู้ และมีความมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพเกษตรกร หรือเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร
    • ต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
    • ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
  • เอกสารหลักฐานประกอบการสมัครขอรับทุน
    • รูปถ่ายชุดนักเรียนหรือนักศึกษาหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว (ติดใบสมัคร) จำนวน 1 รูป
    • สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สำเนาในระเบียนแสดงผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
      จำนวน 1 ฉบับ
    • สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สำเนาใบรับรองผลการเรียน (Transcript) จำนวน 1 ฉบับ
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ
    • สำเนาทะเบียนบ้านของนักศึกษา จำนวน 1 ฉบับ
    • แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
    • แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของที่ดิน (ถ้ามี) จำนวน 1 ฉบับ
    • สำเนาเอกสารอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเป็นผู้มีจิตสาธารณะ มีความเป็นผู้นำหรือมีความสามารถพิเศษ เช่น เกียรติบัตร วุฒิบัตร เป็นต้น พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ

วัน เวลา และสถานที่รับสมัคร
             ผู้สมัครสามารถขอรับใบสมัครได้ที่สำนักงานคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ http://www.agt.snru.ac.th ยื่นใบสมัครและเอกสารหลักฐานประกอบการรับสมัครด้วยตนเอง ที่สำนักงานคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หรือสแกนเอกสารการสมัครทางอีเมล Anuwat.A@snru.ac.th สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร เบอร์โทรศัพท์ 042 743 682 ในวันและเวลาทำการ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2567 ถึง 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กำหนดการ วัน เวลา และสถานที่สัมภาษณ์
               ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ และลำดับที่สอบ ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ทางเว็บไซต์ https://agt.snru.ac.th หรือบอร์ดประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณบดี วัน เวลา และสถานที่ในการสอบสัมภาษณ์จะแจ้งในประกาศลำดับที่สอบสัมภาษณ์ต่อไป

ดาวน์โหลดเอกสารการรับสมัคร

เงื่อนไขการรับทุน

  • ผู้ได้รับทุนจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตร
  • หากผู้ได้รับทุนพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ลาพักการศึกษา โอนย้ายคณะ เปลี่ยนสาขาวิชาเอก หรือเข้าร่วมกิจกรรมตามประกาศไม่ครบจะถือว่าผู้ได้รับทุนการศึกษาสละสิทธิ์การรับทุนการศึกษา
  • ระหว่างการศึกษาผู้รับทุนจะต้องผ่านการบ่มเพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเกษตรกรมืออาชีพ หรือผู้ประกอบการมืออาชีพ ตามตัวชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI) ของนักศึกษาผู้ที่ได้รับทุนก่อนจบการศึกษา โดยมีการติดตามรายงานความก้าวหน้า ทุกภาคการศึกษา ดังต่อไปนี้
    • ผู้รับทุนต้องจัดทำรายงาน “เกษตรสร้างรายได้ของสาขาที่ตนศึกษา” โดยศึกษาจากความสำเร็จของเกษตรกรหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ตนศึกษา
    • ผู้รับทุนต้องผ่านการพัฒนากระบวนการในการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชนและท้องถิ่น นักศึกษาจะต้องจัดทำรายงาน “การศึกษาศักยภาพชุมชนของตนเอง” โดยคำแนะนำของคณะกรรมการดำเนินงานอาจารย์พี่เลี้ยง
    • ผู้รับทุนต้องผ่านการพัฒนาเพื่อสร้าง “โครงการพัฒนาทางการเกษตรหรือผู้ประกอบการของสาขาที่ตนศึกษา” และฝึกปฏิบัติตามคำแนะนำคณะกรรมการดำเนินงานอาจารย์พี่เลี้ยง
    • ผู้รับทุนต้องนำ “โครงการพัฒนาทางการเกษตรหรือผู้ประกอบการของสาขาที่ตนศึกษา” ไปปฏิบัติจริง ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการดำเนินงานอาจารย์พี่เลี้ยง
    • ผู้รับทุนต้องปรับปรุง “โครงการพัฒนาทางการเกษตรหรือผู้ประกอบการของสาขาที่ตนศึกษา” และขยายขนาด เพื่อพัฒนาประสบการณ์และสร้างความชำนาญภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการดำเนินงานอาจารย์พี่เลี้ยง
    • ผู้รับทุนต้องนำประสบการณ์ ผลการประเมินและข้อค้นพบจาก “โครงการพัฒนาทางการเกษตร หรือผู้ประกอบการของสาขาที่ตนศึกษา” เรียบเรียงและจัดทำเป็นรายงานการวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลการดำเนินงานของนักศึกษาผู้ที่ได้รับทุน โดยความเห็นชอบของอาจารย์พี่เลี้ยง

            อาจารย์ผู้ที่รับผิดชอบโครงการทุนราชภัฏเพื่อทายาทเกษตรกร และอาจารย์พี่เลี้ยงจะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ผู้รับทุนได้รับการสนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ภายหลังสำเร็จการศึกษา

  • ผู้รับทุนการศึกษาต้องมีจิตอาสาช่วยเหลืองาน คณะเทคโนโลยีการเกษตร และสาขาวิชาอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้รับทุนการศึกษาต้องเข้าร่วมอบรมด้านการเกษตรหรือสาขาที่ตนศึกษาอยู่กับบุคลากรต้นแบบภายนอกมหาวิทยาลัย โดยความเห็นชอบคณะกรรมการดำเนินงานและอาจารย์พี่เลี้ยง และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ด้วยมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต้องใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนา ผู้รับทุนการศึกษาจำเป็นต้องมีเครื่องมือและทักษะในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จึงกำหนดให้ผู้รับทุนการศึกษาต้องเข้าร่วม โครงการพัฒนา Soft Skills ให้กับนักศึกษาด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม

           แนวปฏิบัติการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ผู้รับทุนการศึกษาต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักศึกษาตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 23 กิจกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • 1) ผู้รับทุนการศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 10 กิจกรรม ดังนี้
    • 1.1 กิจกรรมบังคับ                   ไม่น้อยกว่า 4 กิจกรรม
    • 1.2 กิจกรรมระดับคณะ            ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
    • 1.3 กิจกรรมระดับสาขา           ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
  • 2) ผู้รับทุนการศึกษาชั้นปีที่ 2 ต้องเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 6 กิจกรรม ดังนี้
    • 2.1 กิจกรรมระดับคณะ            ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
    • 2.2 กิจกรรมระดับสาขา           ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
  • 3) ผู้รับทุนการศึกษาชั้นปีที่ 3 ต้องเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 6 กิจกรรม ดังนี้
    • 3.1 กิจกรรมระดับคณะ             ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
    • 3.2 กิจกรรมระดับสาขา            ไม่น้อยกว่า 3 กิจกรรม
  • 4) ผู้รับทุนการศึกษาชั้นปีที่ 4 ต้องเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 1 กิจกรรม ดังนี้
    • 4.1 กิจกรรมบังคับ                     ไม่น้อยกว่า 1 กิจกรรม

          เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้รับทุนการศึกษาต้องมีปณิธานแน่วแน่ที่จะนำความรู้และประสบการณ์มาประกอบอาชีพเกษตรกร หรือผู้ประกอบการด้านการเกษตรในภูมิลำเนาของตนเอง